แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศ และเตรียมรับมือสังคมสูงวัย

ครม. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565 - 2580 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์รองรับอนาคต ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรให้ความสำคัญกับ 3 ด้านได้แก่

• การเกิดอย่างมีคุณภาพ

• การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

• การแก่และตายอย่างมีคุณภาพ

โดยต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทั้งนี้ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์

1. การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร

1.1 ผลักดันประเด็นการพัฒนาพัฒนาแนวความคิดและทัศนคติครอบครัวเป็นวาระสำคัญของชาติ : ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติผ่านกลไกสถาบันครอบครัว เช่น ค่านิยมการยอมรับ

ความเห็นต่าง (สศช.)

1.2 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับการมีบุตรและการดูแลครอบครัว : พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลในการดูแลเลี้ยงดูบุตรและจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงชุมชนและเพิ่มบทบาทวิชาชีพต่าง ๆ ให้เป็นกลไกในการพัฒนา (พม. และ สธ.)

1.3 สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัวรวมถึงระบบสนับสนุนครอบครัวหลากหลายรูปแบบ : สนับสนุนวันลาเพื่อการดูแลครอบครัว อาทิ วันลาเพื่อดูแลบุตรหลังคลอดสำหรับผู้ชาย / แก้ไขกฎหมายสำหรับการมีครอบครัวหลากหลายรูปแบบอย่างเท่าเทียม (กระทรวงแรงงาน/สภาองค์การลูกจ้างพัฒนา/แรงงานไทย/สถานประกอบการ)

1.4 จัดหาสิทธิประโยชน์ในการจูงใจและลดภาระจากการมีบุตร : จัดทำกลุ่มสิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัวที่คลอดบุตรทั้งด้านการเงินและบริการดูแลบุตร / ตั้งกองทุนภาคสมัครใจสำหรับแบ่งเบาภาระ ในการดูแลสมาชิกในครอบครัว (พม./รง.)

1.5 ส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่ต้องการมีบุตรหรือกลุ่มผู้มีบุตรยาก : กำหนดให้การมีบุตรไม่ได้ด้วยตนเองหรือมีบุตรยากเป็นภาวะโรคหรือทุพพลภาพ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ (กค./พม./สปสช.)

1.6 สร้างศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ : สร้างและพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก (0 - 2 ปี) ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีครูพี่เลี้ยงที่มีใบอนุญาตมีองค์กรกำกับและบริหารจัดการและระบบติดตามการดำเนินงาน (ศธ./อปท./ภาคประชาสังคมUNICEF)

2. การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร

2.1 ส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ : ยกระดับระบบการศึกษาให้มีสมรรถนะพื้นฐานสำหรับศตวรรษที่ 21 อาทิ การสร้างทัศนคติด้านการเติบโต (growth mindset) / ขยายความครอบคลุมด้านอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม (อว./ดศ./มท./กสศ.)

2.2 พัฒนารูปแบบของระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ชัดเจน : พัฒนาระบบข้อมูลและการจัดกลุ่มทักษะ (Skill dusters) / และจัดทำฐานข้อมูลตลาดแรงงานและการวิเคราะห์อาชีพจำเป็นใหม่ ๆ (รง./ศธ./ ศูนย์การศึกษานอก โรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา /องค์การแรงงานระหว่างประเทศ)

2.3 เพิ่มกำลังและคุณภาพแรงงานให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง : ส่งเสริมการจ้างงานตามสมรรถนะ เพื่อลดข้อจำกัดและอคติด้านอายุ

/พัฒนาและบูรณาการรูปแบบการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะในลักษณะที่ครอบคลุมหลายมิติ (พม./รง./ศธ./สธ./อปท./กสศ.)

2.4 รักษาคนไทยที่มีศักยภาพสูง(Talent) ให้ทำงานให้กับประเทศ : สนับสนุนแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมและเปิดโอกาสให้ดำเนิน

โครงการของรัฐ / พัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการแรงงานทักษะสูง (อว./ดศ./อก./ก.พ.)

3. การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน

3.1 ส่งเสริมให้ประชากรมีความมั่งคงทางการเงิน : ส่งเสริมการออมและนวัตกรรมทางการเงินสำหรับประชากรทุกกลุ่ม (กค./ศธ./ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย/สถาบันการเงิน/กลุ่มสัจจะออมทรัพย์)

3.2 การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน : พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมรายบุคคล / วางกลไกการให้คำแนะนำและช่วยเหลือครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ และมีประกันภัยพื้นฐานในการพยุงระดับรายได้ครัวเรือน (กค./มท./ธนาคารแห่งประเทศไทย)

4. การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต

4.1 ยกระดับศักยภาพให้คนทุกกลุ่มทุกวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะสามารถป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามต่อสุขภาวะ : ใช้เศรษฐศาสตร์ เชิงพฤติกรรมรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ / ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาให้ครอบคลุม ความรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาพฤติกรรมการสร้างสุขภาวะที่ดี (ศธ./สธ./อปท.)

4.2 พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ : พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตที่เชื่อมโยงการบริการสังคมและการแพทย์ / สนับสนุนการวางแผนดูแลสุขภาพในวัยสูงอายุ ระบบพิทักษ์ทรัพย์สินผู้สูงอายุ (สธ./อปท.)

5. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย

5.1 พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม : ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในลักษณะความปกติต่อไป (Next Normal) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในมิติใหม่ (มท./อปท.)

5.2 เพิ่มและกระจายพื้นที่สาธารณะให้มีความทั่วถึง : จูงใจให้องค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการเพิ่ม และกระจายพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ (สธ./สสส./อปท.)

5.3 พัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แห่งคุณภาพชีวิตที่ดี : นำร่องพื้นที่แห่งการเรียนรู้ระดับตำบล ในมิติด้านสภาพแวดล้อม ความเสมอภาค และการส่งเสริมการทำงานและการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ตลอดจนนำกลไกใหม่ ๆ มาปรับใช้ เช่น Social credit system (รง./สธ./อปท.)

6. การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น

6.1 เสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ : กระจายอำนาจด้านการบริหารไปสู่ อปท. เพิ่มขึ้น เพื่อจัดทำบริการสาธารณะตามความต้องการของพื้นที่ / สนับสนุนการวิจัยให้เกิดการพัฒนาและต่อยอด รวมทั้งสร้างงานใหม่ ๆ ในพื้นที่ (อว./มท./อปท.)

6.2 ดึงดูดคนไทยทักษะสูงในต่างประเทศและคนต่างชาติทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศ : ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้นักศึกษาต่างชาติที่มีความสามารถสูงทำงานต่อได้หลังจบการศึกษา การกำหนดโควตาการนำเข้าแรงงานกลุ่มทักษะต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ / จูงใจแรงงานไทยทักษะสูง โดยทำการตลาดเชิงรุกในการสรรหาคนเก่ง (Active recruitment strategies) (กต./ก.พ./BOI/สตช.)

6.3 เสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย : พัฒนากลไกการดูแลแรงงานต่างด้าวให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ย้ายถิ่น (มท./รง./สธ.)

6.4 ปรับปรุงระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ : พัฒนาระบบที่นำไปสู่การนำเข้าแบบถูกกฎหมายเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ครอบคลุมทุกมิติ (รง./สธ./อก.)

การดำเนินการเป็น 2 ระยะ

• ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน

• ระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

สำหรับอนาคตประชากรไทยระยะยาวยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลงและในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85 และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580 ทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน นอกจากนี้สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขณะที่อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha ซึ่งเกิดในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม

ตัวอย่างการบ่มเพาะทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน เกิดการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม อาทิ หลายครั้งเราเห็นภาพ คลิปวีดีโอที่เผยแพร่ในโซเชียลถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการขับรถบนท้องถนนของประชาชนจนนำไปสู่กับโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ใช้รถด้วยกันเอง รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นเดียวกันตำรวจที่ไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมดังกล่าวของประชาชนได้ และไม่มีทักษะ ในการสื่อสารที่ดีเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยความอ่อนโยน สิ่งเหล่านั้นส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมขึ้น สุดท้ายมักจะจบด้วยการสำนึกผิดภายหลังพร้อมกับหอบกระเชาสวย ๆ ไปขอโทษกับการกระทำของตัวเองที่ขาดสติ

ตัวอย่างบทบาทของสื่อโซเชียลที่มีอิทธิพลต่อการสร้างการับรู้ แบบผิด ๆ อาทิ ในโลกโซเชียลในขณะนี้ที่มีการติด #พ่อมึง ซึ่งเป็นชื่อเพลงของศิลปินกลุ่มหนึ่ง สะท้อนในเห็นว่าการใช้คำหยาบในสังคมไทยกลายเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถนำมาทำเป็นเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงและการเลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการอบรมและการปลูกฝังขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นการพัฒนาประชากรในอนาคต

นอกจากนี้แผนการพัฒนาประชากรยังรวมไปถึงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) รองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกทุกมิติ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ "ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม"

1. เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

2. เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ

3. เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ

4. เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปี ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 - 35 ปีข้างหน้า ให้ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ

สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้จะแบ่ง เป็น 2 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2566-2570) แผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566-2580) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน ดังนี้

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 1

เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนสูงวัย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

1. ส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25 – 59 ปี เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการออมเพื่อยามชราภาพ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น เป็นต้น

2. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการชราภาพ ตระหนักถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีและมีความรับผิดชอบต่อผู้สูงอายุ

3. ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล

4. เร่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ

5. ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 2

ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปหลักประกันยามชราภาพ เป็นต้น

2. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสุขภาพ เช่น พัฒนาระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เป็นต้น

3. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสังคม

4. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสภาพแวดล้อม เช่น ปรับสภาพ ที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอก

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 3

ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้

1. แปลงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติและผลักดันให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนอย่างมีบูรณาการตั้งแต่ระดับชาติ สู่ระดับท้องถิ่น

2. ติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ

3. ปฏิรูประบบกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินงานของทุกภาคส่วน

4. วางระบบกำลังคนด้านผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในระดับชาติและระดับพื้นที่

5. เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการจัดการงานด้านผู้สูงอายุ

6. พัฒนาระบบพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

7. พัฒนาระบบปกป้องและฟื้นฟูผู้สูงอายุและครอบครัวในยามเกิดวิกฤต

8. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 4

เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

1. ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

2. ส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

แนวทางการสื่อสาร

• หยิบยกประเด็นเหล่านี้ เช่น คำพูด คำหยาบ พฤติกรรม ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น มาชวนคิดชวนคุย ให้เห็นต้นตอของปัญหา และวิธีการรับมือของผู้ใหญ่ (รวมถึง จนท.รัฐที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้โดยตรง)

• เน้นย้ำ บทบาทของสื่อ โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ที่ต้องทำหน้าที่ ปักธงทางความคิดให้สังคม ให้เห็นว่าปลายทางของการใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม มีโทษอย่างไร

• สื่อสารถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง "มีลูกเมื่อพร้อม ไม่ผลักภาระให้สังคม"

• หยิบประเด็นย่อยในแต่ละยุทธศาสตร์ ว่าแต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างไร?


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar