กรมชลประทาน เผย เอลนีโญยังแรง วอนประชาชนเร่งเก็บกักน้ำปลายฝน และเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ลดเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

 

           กรมชลประทาน เผย เอลนีโญยังแรง วอนประชาชนเร่งเก็บกักน้ำปลายฝน และเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ลดเสี่ยงผลผลิตเสียหาย
ด้าน สนง.ชลประทานที่ 7 ระบุระดับน้ำที่แม่น้ำชีตอนล่างในภาคอีสานเพิ่มขึ้น แต่ทุกเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงดี ในขณะที่ผลการเพาะปลูกในฤดูฝน ปี 2566 เกิน 100% แล้ว 
           ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (4ก.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,470 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน  จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว 14,238 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,706 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 104 ของแผน  ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 14.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ  88 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.49 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.53 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก(เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
           ทั้งนี้  จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า สถานการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้  และมีแนวโน้มส่งผลยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 67  โดยคาดการณ์ว่า  ณ วันที่ 1 พ.ย. 66  จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศรวมกันประมาณ 21,160 ล้าน ลบ.ม เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,803 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ปริมาณน้ำดังกล่าวนี้ จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค  และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น  จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต สอดคล้องสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด  ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ  ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ  ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันเก็บกักน้ำไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ  อาทิ แก้มลิง  บ่อ  อาคารชลประทานที่ได้รับการถ่ายโอนแล้ว  หรือแม้แต่ภาชนะสำรองน้ำภายในครัวเรือน ไว้ให้ได้มากที่สุด   เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป
         สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีสานล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 (4 ก.ย.66) รายงานว่า ระดับน้ำที่แม่น้ำโขงตอนล่างและแม่น้ำมูลตอนล่าง มีระดับน้ำที่ ในขณะที่ระดับน้ำที่แม่น้ำชีตอนล่างมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 
โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  ปริมาณน้ำปัจจุบัน 1,428.01 ล้าน ลบ.ม ยังรับน้ำได้อีก 538.46 ล้าน ลบ.ม.ระดับน้ำ ถือว่าระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลาง  61 แห่ง ความจุน้ำรวมวันนี้ 319.15 ล้าน ลบ.ม. โดยทุกเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงดี 
สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนทดน้ำ 7 แห่ง:
-เขื่อนปากมูล ระดับน้ำหน้าเขื่อน +96.98  ม.ทรก..ระดับน้ำท้ายเขื่อน + 96.71ม.ทรก. ระบาย 765.05 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง
-เขื่อนยโสธร จุน้ำปัจจุบัน 74.05%  มีแนวโน้มลดลง
เขื่อนธาตุน้อย จุน้ำปัจจุบัน 90.12% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
-เขื่อนลำเซบาย อำนาจเจริญ จุน้ำปัจจุบัน 61.38% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
-เขื่อนลำเซบาย อุบลราชธานี จุน้ำปัจจุบัน 101.68% มีแนวโน้มทรงตัว
-เขื่อนลำเซบก จุน้ำปัจจุบัน 44.22% มีแนวโน้มทรงตัว
-เขื่อนลำโดมใหญ่ จุน้ำปัจจุบัน 83.74% มีแนวโน้มลดลง
        สำหรับผลการเพาะปลูกในฤดูฝน ปี 2566 (1พ.ค.66 – 31 ต.ค.66)   1.มีการเพาะพืช คิดเป็น 100.08%  2. มีการปลูกข้าว คิดเป็น 100.08% 
 สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนนั้น จากข้อมูล สำนักงานชลประทานที่ 7  ณ วันที่ 4 กันยายน 2566 มีน้ำต้นทุน 455.57 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร 234.41 ล้าน ลบ.ม.
จากความต้องการน้ำทั้งหมด 362.52 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 7 และโครงการชลประทานในสังกัด ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหาร
จัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการอุปโภค – บริโภคอีกด้วย
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจากแหล่งราชการ และขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จให้งดทำนาปีต่อเนื่อง
และมีการกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้งต่อไป ตลอดจนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่าอีกด้วย
 


 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar