ปรับเงื่อนไข "บ้านล้านหลัง" ความหวังของคนอยากมีบ้าน

ครม.มีมติเห็นชอบให้ ธอส.ปรับวงเงินกู้โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน เพิ่มจากเดิมไม่เกิน 1.2 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการจัดหาที่อยู่และสอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระ ทั้งนี้ ธอส. ได้จัดทำแนวทางเพื่อช่วยประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ดังนี้

• สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก เท่ากับ 1.99% ต่อปี

• ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี

• เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก หรือ 7 ปี

• ให้กู้เพื่อซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม (ห้องชุด) ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บ้านมือสอง รวมถึงบ้านมือสองของ ธอส. เพื่อปลูกสร้าง หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยพร้อมกับการขอกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม

• ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับผู้กู้ 2 ประเภท 1. ค่าประเมินราคาหลักประกัน และ 2. ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง

โดยผลการดำเนินงานโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ณ วันที่ 29 มี.ค. 65 ธอส.อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 12,007 ราย วงเงินรวม 10,281.30 ล้านบาท จากกรอบวงเงินโครงการทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวจำนวน 9,718.70 ล้านบาท ธอส.จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อต่อไป

นอกจากการปรับเพดานวงเงินกู้แล้ว ในที่ประชุมคณะกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ณ วันที่ 31 พ.ค. 65) ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารปรับเพดานสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัญญากู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 1 ที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท เพื่ออำนวยแก่ประชาชนที่ต้องการมีบ้านและต้องการวงเงินกู้เพิ่มในระดับที่สอดคล้องกับรายได้ ได้นำไปซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มลูกค้าที่จะสามารถได้รับวงเงินกู้สูงสุด 110% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ประชาชนยื่นกู้ตามเพดาน LTV ใหม่อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือน มิ.ย. 65

นอกจากมาตรการด้านสินเชื่อข้างต้น ด้วยเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงส่งผลต่อความสามารถของประชาชนในการหารายได้อยู่ ก่อนหน้านี้ภาครัฐได้มีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในด้านสินเชื่อ อย่าง มาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และทางธปท. ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อบรรเทาสุขภาพทางการเงินของประชาชนและเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยิ่งขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างเชื่อมโยงกับธุรกิจหลายประเภทและกระจายเม็ดเงินไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่าง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งได้เติบโตไปพร้อมกัน โดยมีมูลค่าทางตลาดคิดเป็นสัดส่วน 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อีกส่วนที่สำคัญคือ การจ้างงาน เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องการคนเป็นจำนวนมากในการก่อสร้าง ยิ่งเกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นผู้คนสามารถมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตาม จึงเห็นได้ว่าปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ภาครัฐได้ทำคือ การออกนโยบายช่วยกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้นนั่นเอง


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar