มาตรการป้องกันโควิด – ความปลอดภัยบนท้องถนน เทศกาลสงกรานต์ 2565 

 

สัปดาห์แห่งความสุขของประชาชนคนไทย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนต่างตั้งหน้าตั้งตารอเพราะเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่เราไม่สามารถเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขนี้ได้ แต่สงกรานต์ในปีนี้ ถือว่าได้รับการผ่อนคลายกันมาบ้าง  แต่เนื่องจากในช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ยังคงมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ยังคงต้องเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำสงกรานต์ปลอดโควิด-19 ด้วยมาตรการ COVID FREE Setting โดยเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการ ทุกภาคส่วน เน้นหลัก 3 ป. ของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 

1. ป.ประเมิน - ความเสี่ยงกิจกรรมหรือรูปแบบงาน ได้แก่ ความหนาแน่นของจำนวนผู้ร่วมงาน หรือการเว้นระยะห่าง การพูดคุย การสวมหน้ากากและการระบายอากาศ ซึ่งหากพบกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยง ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
2. ป.ปรับ – ถ้าประเมินว่ามีความเสี่ยง ควรปรับตามมาตรการความปลอดภัย COVID FREE Setting ทั้ง 3 ด้าน เจ้าภาพ ผู้จัดงาน ให้เลือกสถานที่ ที่มีการระบายอากาศที่ดี มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมหรือจุดเสี่ยงต่างๆ จัดสถานที่สำหรับล้างมือ เลี่ยงหรืองดกิจกรรมที่มีลักษณะที่มีการใกล้ชิดกันหรือเน้นการจำกัดจำนวนคนในบางกิจกรรม รวมทั้ง ผู้จัดงานและผู้ร่วมงานควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงตนเองด้วย Thai Stop COVID Plus หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงควรงดไปร่วมงาน
3. ป.ปฏิบัติ – ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน DMHTA ในระหว่างร่วมงานอย่างเคร่งครัด หลังจากเข้าร่วมงานควรเฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 10 วัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงมาตรการ 2 U ป้องกันควบคุมโรคโควิดในช่วงนี้ ทั้ง Universal Prevention สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เมื่อใกล้ชิดผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง รวมทั้งงดรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงการดูแลตนเองให้ปลอดความเสี่ยงติดเชื้อ (Self clean-up) ก่อนกลับไปเยี่ยมญาติ ผู้ใหญ่ และ Universal Vaccination ทุกกลุ่มอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นอีกด้วย

ขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ผ่อนคลายให้เดินทางข้ามจังหวัด และสามารถจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ได้ในบางกิจกรรมได้ ได้แก่ พิธีสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่างๆ

แนวทางการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พิธีรดน้ำดำหัว 
• จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดของสถานที่ 1 คนต่อ 1 ตารางเมตร 
• หลีกเลี่ยงจัดในที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ 
• รดน้ำโดยเรียงแถวเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
• สวมหน้ากากอนามัยทุกคน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน

การจัดงานสงกรานต์ ขอให้จัดตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นกัน การจัดกิจกรรม (ยกเว้นการสาดน้ำ) 
• เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกคน 
• จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร
• จำกัดเวลาตามสมควร ให้จัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี 
• งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งดเล่นสาดน้ำ งดประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม หลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงและสังสรรค์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่ 
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีนี้ ขอให้จัดกิจกรรมโดยเน้น “ริน รด พรม สวมหน้ากาก ไม่สาดน้ำ” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย และขอความร่วมมือประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% ทุกคน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัวและชุมชนด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ภายใต้การดำเนินการของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ดำเนินการเข้มข้นในช่วงวันที่ 11 – 17 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565

ความปลอดภัยบนท้องถนน 
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งเตรียมกำลังพลกว่า 80,000 นาย อำนวยความสะดวกการจราจร และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และที่พักอาศัย รวมถึงการป้องปรามไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดเทศกาลฯ โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดกวดขันวินัยจราจร 18,371 นาย จุดตรวจแอลกอฮอล์ 12,139 นาย ชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลืออุบัติเหตุ 9,670 นาย ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สายตรวจ ธุรการ ที่ระดมกำลังเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมและบริการประชาชนตลอดเทศกาล โดยไม่มีวันหยุดพัก

1. การอำนวยความสะดวกจราจรเพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย ให้ทุกหน่วยประสานเจ้าของถนนคืนพื้นผิวการจราจร เช่น จุดที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซมถนน เป็นเหตุให้รถชะลอตัว โดยสามารถคืนพื้นผิวได้แล้ว ทั้งหมด 418 จุดทั่วประเทศ จัดตำรวจอำนวยการจราจร ตามจุดสำคัญที่เป็นปัญหาการจราจร รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยว 
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์เช่น รถยก รถสไลด์ เข้าถึงที่เกิดเหตุและคลี่คลายการจราจรได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้ออกข้อบังคับเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถ ทั้งขาเข้าและออก กทม. รวมระยะทาง 445 กม. และข้อบังคับห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนนบางสาย เพื่อลดความหนาแน่นการจราจร สำหรับรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องเดินรถ เช่น รถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสด สามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ ของ บก.ทล. ได้ที่ www.hwpdth.com

2. การป้องกันและลดอุบัติเหตุ ให้ทุกหน่วยทำบัญชีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เพื่อเข้าไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องปราม ตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 1,937 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,430 จุด และชุดสายตรวจจราจรอีก 1,903 ชุด เพื่อกวดขันจับกุมการกระทำผิดกฎจราจรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เริ่มตั้งแต่ 4 เม.ย. 65 เป็นต้นมา และช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น โดยทุกจังหวัดได้ตั้งค่าเป้าหมายการลดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ต้องลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ 10 – 18 เม.ย.65 กำหนดให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรทุกวัน ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (12 – 18 เม.ย.65) 

แคมเปญ“7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น”
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตร. เปิดแคมเปญรณรงค์อาสาตาจราจรช่วงสงกรานต์ในชื่อ “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” เพื่อให้ประชาชนช่วยกันเป็นอาสาตาจราจร ตรวจตราการกระทำผิดกฎจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนน

สำหรับแคมเปญพิเศษ “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ให้ประชาชนส่งคลิปในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้นของเทศกาลสงกรานต์ 2565 จากคลิปที่ส่งมาทั้งหมด จะมีการคัดเลือกให้เหลือ 7 คลิป และจะมีรางวัลให้คลิปละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 70,000 บาท โดยได้รับสนับสนุนเงินรางวัลจาก บ.วิริยะประกันภัย ฯ

ช่องทางในการส่งคลิป มี 4 ช่องทาง 
• ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. https://www.facebook.com/SocialMediaRoyalThaiPolice/ 
• จส.100 ช่องทาง เฟซบุ๊ก : JS100 Radio https://www.facebook.com/js100radio/ 
• สวพ.91 ช่องทาง เฟซบุ๊ก สวพ.91 https://www.facebook.com/fm91trafficpro/ 
• มูลนิธิเมาไม่ขับ เพจอาสาตาจราจร https://www.facebook.com/อาสาตาจราจร-100472452158287/
ทั้งนี้ คลิปที่ถูกส่งมาตามช่องทาง ศูนย์บริหารงานจราจร ตร. จะถูกส่งต่อไปยังสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย หรือกรณีเป็นคลิปอุบัติเหตุ จะส่งต่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีต่อไป สำหรับในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลและประกาศนียบัตรให้กับเจ้าของคลิปที่ได้รับรางวัล ประจำเดือน มี.ค.65 จำนวน 10 คลิป รวมเป็นเงิน 50,000 บาท 

นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวม เบอร์โทรฉุกเฉิน เบอร์สายด่วน ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไว้ให้ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามไว้ดังนี้
• แจ้งเหตุด่วน - เหตุร้าย หมายเลข 191
• เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669
• ตำรวจท่องเที่ยว หมายเลข 1155
• ตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193
• สอบถามข้อมูลจราจร หมายเลข 1197
• ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม หมายเลข 1356 
• กรมทางหลวง หมายเลข 1586
• กรมทางหลวงชนบท หมายเลข 1146
• กรมเจ้าท่า หมายเลข 1199
• บขส. หมายเลข 1490
• การรถไฟแห่งประเทศไทย หมายเลข 1690
• องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หมายเลข 1348
• สหกรณ์แท็กซี่สยาม หมายเลข 1661 
• TAXI-RADIO หมายเลข 1681
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar