ดีเดย์ 1 พ.ค. ปลดล็อก ประเทศไทย เดินหน้าเศรษฐกิจ



ภายหลังจากการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบุว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ประเทศไทยจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ มีการยกเลิกระบบการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go และให้ปรับเป็นการตรวจหาเชื้อแบบ ATK เพื่อความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นในการที่จะเปิดการท่องเที่ยวของไทย พร้อมทั้งมีการพิจารณาการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการป้องกันควบคุมโรคอีกด้วย

ยกเลิกเข้าไทยแบบ Test & Go ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT-PCR โดยแบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 ประเภท
1. ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccinated Travelers)
• ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อเดินทางมาถึงประเทศ
• แนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพำนัก หากพบเชื้อฯ ให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย หรือตามความรับผิดชอบของบุคคล
2. ผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ (Unvaccinated Travelers)
• สามารถยื่นหลักฐานผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ไม่เกิน 27 ชั่วโมง ก่อนเดินทางถึงประเทศไทย
• กักตัวตามระบบ AQ โดยตรวจ RT-PCR 4-5 วัน
• แนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพำนัก หากพบเชื้อฯ ให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย หรือตามความรับผิดชอบของบุคคล
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศไทยจะต้องผ่านระบบ Thailand Pass พร้อมแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และต้องทำประกันสุขภาพ ในวงเงินประกัน 10,000 USD
หากเทียบความเสี่ยงกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่าตัวเลขการติดเชื้อจากต่างประเทศ (วันละ <100 คน) เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศประมาณ 15,000 - 20,000 คน เท่ากับมีการติดเชื้อจาก ต่างประเทศ 0.5% เท่านั้น
ขณะที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่าหลังจากรัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไข การเข้าประเทศทั้งหมด จะทำให้อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวของไทยค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2565 ประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 30% ของรายได้รวมปี 2562 และประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน จากเป้าเดิมที่วางไว้ที่ 8 - 10 ล้านคน และมีรายได้ในปี 2566 เพิ่มเป็น 50% ของปี 2562 จากนั้นในปี 2567 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวใกล้เคียงกับปี 2562

ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย
• เดือนมกราคม 133,903 คน เพิ่มขึ้นกว่า 16 เท่าตัว เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• เดือนกุมภาพันธ์ 152,954 คน เพิ่มขึ้นกว่า 25 เท่าตัว เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• เดือนมีนาคม 210,836 คน เพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์หรือสีของจังหวัด
1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 0 จังหวัด
2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 0 จังหวัด
3. พื้นที่ควบคุม 0 จังหวัด
4. พื้นที่เฝ้าระวังสูงเพิ่มเป็น 65 จังหวัด จากเดิม 47 จังหวัด
กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุทัยธานี อุบลราชธานี ตาก นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฏร์ธานี อุดรธานี และอุตรดิตถ์
5. พื้นที่เฝ้าระวัง 0 จังหวัด
6. เพิ่มจังหวัดท่องเที่ยวโซนสีฟ้าเป็น 12 จังหวัด จากเดิม 10 จังหวัด
กรุงเทพฯ กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา และบางจังหวัดกำหนดพื้นที่ย่อยในระดับอำเภอ
• ปรับมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากไม่เกิน 23.00 น. เป็น ไม่เกิน 24.00 น. และคงการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือตามมาตรการ COVID Free Setting
• คงมาตรการสำหรับสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้ผู้ประกอบการ เปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ได้เมื่อ มีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา
• WFH (Work From Home) ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

รวมถึงแนวทางการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5+5 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 7+3 วัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) 5 วัน หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการตนเองอีก 5 วัน
แนวทางการสื่อสาร
• ย้ำแนวคิด ผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้ไปต่อ และการรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
• สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ นักวิชาการ influencer ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ถึงประโยชน์ที่จะได้จากการคลายล็อกมาตรการ
• สัมภาษณ์บุคลากรด้าน สธ. ให้เห็นว่าการเปิดประเทศมีความปลอดภัย / เปรียบเทียบความเสี่ยง กับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar