แนวทางแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา

ปัญหาที่แก้ไขได้ยากในทุกยุคทุกสมัยรัฐบาล การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาท ในปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นสลากฯในราคานี้เลย ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 90 บาท หากสลากเลขสวย รวมชุด จะตกอยู่ที่ใบละ 110 บาทขึ้นไป เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2565 ลงวันที่ 12 ม.ค. 65 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล

แบ่งเป็น 3 คณะอนุกรรมการ

• คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล และคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบฯ

• คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา

• คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการ มีการพิจารณาโครงการสลาก 80 ซึ่งเป็นมาตรการที่คณะกรรมการฯ ได้วางแนวทางให้สำนักงานสลากฯ ดำเนินการ โดยจำหน่ายสลากฯ ผ่านแอป "เป๋าตัง" ในราคา 80 บาท ซึ่งจะมีทั่วประเทศ ภายในงวด 16 มิ.ย. 2565

ส่วนของการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สำนักงานสลากฯ ได้พัฒนาช่องทางร่วมกับธนาคารกรุงไทยผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนใช้งานกว่า 40 ล้านคน เป็นระบบที่ได้มาตรฐาน มีความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ซื้อ – จองล่วงหน้า สามารถนำมาฝากขายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถขายเองได้บางส่วนด้วย ช่วยให้เพิ่มโอกาสให้ขายสลากได้มากขึ้น และการควบคุมราคา รวมถึงการตรวจสอบก็สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้แพลตฟอร์มจำหน่ายสลากจะเริ่มทดสอบระบบภายในเดือนเม.ย. และพ.ค.65 และจะเริ่มดำเนินการจริงได้เร็วที่สุด งวดวันที่ 16 มิ.ย.65 ซึ่งจะเริ่มขายตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.65 เป็นต้นไป สำหรับคนพิการและกลุ่มเปราะบางจะมีการพัฒนาแอป เพื่อเพิ่มความสะดวกให้เป็นกรณีพิเศษด้วย

โครงการลงทะเบียนผู้ซื้อ – จองล่วงหน้า เบื้องต้นสำนักงานสลากฯ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจผู้จำหน่ายสลากจริงที่จำหน่ายสลากในพื้นที่ของจังหวัด เพื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบเปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ลงทะเบียนผู้ซื้อ – จองล่วงหน้า ที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อให้คนที่ขายสลากจริง แต่ไม่ได้รับโควตาและไม่ได้รับสิทธิ เป็นคนกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องดูแลให้เข้ามาสู่ระบบ

ทั้งนี้การคัดกรองจะต้องเป็นไปด้วยความชัดเจน มีความแม่นยำ ให้ได้ผู้ที่ทำอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวจริงที่กำลังขายสลากอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องเป็นผู้ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงไม่ใช่การขายส่งหรือลักษณะพ่อค้าคนกลาง

คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาโดยมีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการ การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะเป็นการบริหารงาน 360 องศา โดยแบ่งแนวทางการศึกษา ติดตามผลการปฏิบัติ เป็น 3 ขั้นตอน เริ่มที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

• ต้นทาง กำหนดนโยบาย การสรรหาคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

• กลางทาง เป็นด้านการจัดการทั้งหมด ของสำนักงานสลาก ฯ ซึ่งในระยะเร่งด่วนถึงวันที่ 16 มิ.ย.นี้ จะทำงานวางระบบแพลตฟอร์มขายสลากฯ ทางออนไลน์ กำกับดูแลให้แน่ใจว่าทุกกลุ่มคนสามารถเข้าถึง เช่น ผู้ไม่มีอินเทอร์เน็ต ผู้พิการ ฯลฯ พร้อมจัดทำลูกค้าสัมพันธ์ของ สนง.สลากฯ ติดตามผู้ค้าสลากรายย่อยกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสลากเกินราคา (เปลี่ยนมือ ขายสลากต่อ) โทษตัดสิทธิ ถอนโควตา ติด Blacklist, ผู้ค้าชั้นดี จูงใจเพิ่มเล่มสลากโควตา รวมถึงเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ หากพบสลากเกินราคา เปิดช่องให้ร้องเรียน และอาจมีรางวัลนำจับ

สำหรับระยะกลาง ช่วง 3-6 เดือนต่อจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนจัดสรรโควตา และการกระจาย 69% - 31% (ปัจจุบัน) เหมาะสมหรือไม่ อาจมีการเปลี่ยนสัดส่วนใหม่ไปให้ผู้จอง-ซื้อสลากล่วงหน้ามากขึ้น

และตรวจสอบการคัดกรองผู้จอง-ซื้อล่วงหน้า ที่ลงทะเบียนไว้แล้วกว่า 9 แสนคน ให้เหลือ 6 หมื่นคน (สิทธิเดิม 2 แสนโควตา แต่มีผู้ยืนยันสิทธิเพียงราว 1.3 แสนคนเหลือโควตาราว 6 หมื่นคน) โดยยึดความโปร่งใสโดย 5 หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมการปกครอง กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยย้ำว่าไม่ใช่การรื้อโควตา แต่จะตรวจสอบมูลนิธิการกุศลต่างๆ กว่า 800 หน่วยงานที่รับโควตา (31%) ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หากกระทำผิด ไม่มีตัวตน จะพิจารณาถอนโควตาออก

• ปลายทาง จะศึกษากฎหมายสลากฯ พ.ศ. 2517 เรื่องการกำหนดโทษให้ครอบคลุม เช่น เพิ่มโทษทางแพ่ง-อาญา รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ โดยมี พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน อนุกรรมการคณะนี้ทำหน้าที่สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน เริ่มจากการปูพื้นสร้างความเข้าใจให้เห็นถึงต้นเหตุของปัญหาสลากฯ เกินราคาและการแก้ปัญหาสลากฯ ในอดีต ในขั้นต่อมา เป็นการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ ชุดต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน นำไปสู่ความร่วมมือ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าจะต้องไม่ซื้อและไม่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินกว่า 80 บาท

คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ ดังนี้

• หน่วยสื่อในกำกับของภาครัฐทั้งกรมประชาสัมพันธ์และอสมท. ร่วมกันผลิตรายการและข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ นำเสนอผ่านสื่อทั้งออนแอร์และออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม

• จัดให้มีการแถลงข่าวในห้วงเวลาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด รวมทั้งให้ข้อมูลการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ทุกคณะเป็นประจำทุกสัปดาห์

• คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ เร่งผลิต VTR หรือคลิปวิดีโอที่ดึงดูดใจเพื่อประชาสัมพันธ์และโน้มน้าวทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา ออกเผยแพร่ทั้งในสถานีโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม

โดยการทำงานของทั้ง 3 คณะอนุกรรมการฯ จะมีการติดตาม ไตร่ตรอง ตรวจสอบการดำเนินงาน รวมถึงเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และรายงานการดำเนินการปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี(ครม.)


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar