ประเทศไทยเสนอเป็นเจ้าภาพ 3 งานใหญ่ระดับโลก

ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน "Specialised Expo" ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand
องค์การนิทรรศการนานาชาติ(Bureau of International Expositions : BIE) มีข้อกำหนดว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบกรอบงบประมาณก่อนการยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในฐานะผู้ประสานงานหลัก ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานขอให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนไทยในการยื่นหนังสือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างเป็นทางการ และมีกำหนด จะยื่นหนังสือดังกล่าวต่อผู้แทนระดับสูงของBIE ในวันที่ 7 มกราคม 2565 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

รูปแบบและข้อกำหนดในการจัดงาน EXPO 2028 - Phuket, Thailand ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ BIE
• มีขนาดพื้นที่จัดแสดงจำกัดไม่เกิน 156 ไร่ (หรือ 25 เฮกตาร์) ซึ่งพื้นที่โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยใช้ที่ราชพัสดุ ทะเบียน หมายเลข ภก. 153 บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขนาดพื้นที่จัดงาน 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา (หรือประมาณ 25 เฮกตาร์)
• พื้นที่สนับสนุนอีก 3 แห่ง รวม 201 ไร่ คือ
1. พื้นที่พัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว
2. พื้นที่ของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต
3. พื้นที่พัฒนาโครงการศูนย์กีฬา ของการกีฬาแห่งประเทศไทย
การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 4,900,000 คน แบ่งเป็นชาวต่างชาติร้อยละ 54 และชาวไทยร้อยละ 46
แนวคิดการจัดงานหลัก (Theme) คือ Future of Life - Living in Harmony, Sharing Prosperity เน้นการสร้าง สมดุลระหว่างชีวิตและธรรมชาติ
แนวคิดรอง (Subthemes) คือ
1. Life and Well-Being
2. Human-Nature
3. Mutual Prosperity

กิจกรรมที่แสดงภายในงาน
• การแสดงทางวัฒนธรรม (Cultural Performance)
• กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด (Theme) การจัดงาน
• กิจกรรมการประชุม เสวนา และแลกเปลี่ยนทางวิชาการ “Future of Life Forums”
• กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ครอบครัวผู้ใหญ่และผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการจัดงาน

งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2572 รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท
1.งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 (ระดับ B) วงเงิน 2,500 ล้านบาท

วัตถุประสงค์
1. แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย
2. กระตุ้นเศรษฐกิจด้านธุรกิจการนำเข้า – ส่งออกผลผลิตการเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยว
3. ส่งเสริมการต่อยอดการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร
4. สร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตร ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
กำหนดสถานที่จัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี รวม 1,030 ไร่ ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 30 ตลอดระยะเวลาจัดงาน 134 วัน (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570) และมีประเทศเข้าร่วมงาน 20 ประเทศ
สำหรับประเภทงานระดับ B หรือ International Horticultural Exhibition จะต้องใช้พื้นที่จัดแสดง 250,000 ตารางเมตร มีระยะเวลา จัดงาน 3 - 6 เดือน มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ
2.งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2572 (ระดับ A1) วงเงินงบ 4,281 ล้านบาท

วัตถุประสงค์
1. เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตพืชสวน
2. เพื่อให้เกิดการยกระดับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศที่มาร่วมงาน
3. ส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาด สินค้าการเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
กำหนดสถานที่จัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา รวม 678 ไร่ ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าชมงาน 2.6 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 15 ตลอดระยะเวลาจัดงาน 110 วัน (ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 – 28 กุมภาพันธ์ 2573) และมีประเทศเข้าร่วมงาน 30 ประเทศ
สำหรับประเภทงานระดับ A1 หรือ World Horticultural Exposition จะต้องใช้พื้นที่จัดแสดง 500,000 ตารางเมตร มีระยะเวลาจัดงาน 3 – 6 เดือน มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ

ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ด้านเศรษฐกิจ
• ตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดอุดรธานี มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 81,000 อัตรา รายได้จากการเก็บภาษีกว่า 7,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จังหวัดอุดรธานี เกิดรายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท
• ตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดนครราชสีมา มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 9,163 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 36,003 อัตรา และรายได้จากการเก็บภาษีกว่า 3,429 ล้านบาท ซึ่งทำให้จังหวัดนครราชสีมา เกิดรายได้สะพัดกว่า 18,942.64 ล้านบาท
2. ด้านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศ
สามารถเผยแพร่ให้นานาชาติเห็นถึงการพัฒนาด้านการเกษตร ของประเทศ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีการอยู่ร่วมกันของคนไทยกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเผยแพร่พระราชดำริด้านการเกษตรในการพัฒนาการเกษตร อย่างยั่งยืนสู่ประชาคมโลก
3. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
องค์กรนานาชาติ สามารถกระชับความเข้าใจและความสัมพันธ์ อันดีระหว่างประเทศ และองค์กรนานาชาติ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในงานมากกว่า 20 ประเทศ / องค์กร
4. ด้านสังคม
สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านพืชสวนและการเกษตรให้กับท้องถิ่น เช่น การศึกษาวิจัย รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมือง
5. ด้านการเกษตร
สามารถแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากลมีวัฒนธรรมการบริโภคที่มีความหลากหลายมีศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้ำค่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชิงอนุรักษ์การเกษตร
6. ด้านการเพิ่มพูนประสบการณ์และองค์ความรู้
มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย เป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพืชสวน และรูปแบบการจัดนิทรรศการในประเทศและนานาชาติ
ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญเป็นการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยคณะกรรมการ มรดกโลกจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพฯ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้
ส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ ๆ เช่น การจัดการอบรมให้กับผู้จัดการแหล่งมรดกโลกหรือการอบรมให้ความรู้ในการดำเนินงานในด้านการอนุรักษ์
2. ด้านเศรษฐกิจ
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ จะเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งที่ 40 - 43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar