มาตรการรับมือ “โอมิครอน”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 หลังเทศกาลปีใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ข้อมูล ณ 5 ม.ค.65 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 คน และ ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 3,730 คน)
ขณะที่ข้อมูลผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 4 มกราคม 2565 สะสม 2,062 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 1,105 ราย และติดเชื้อในประเทศ 957 ราย
ขณะนี้พบมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยประกาศชะลอการเดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go เพื่อประเมินสถานการณ์ อย่างไรก็ตามกรณีผู้เดินทางในระบบ Test & Go ที่ยังค้างอยู่ในระบบหากต้องการใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียน จะต้องเดินทางเข้ามาภายในวันที่ 10 มกราคม 2565 หลังจากนั้นหากบุคคลใดต้องการเข้ามาประเทศไทยจะต้องเข้าระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ที่ภูเก็ต หรือ ผ่านระบบกักตัว (Quarantine) เท่านั้น

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 6 จังหวัดสูงสุด
1. กรุงเทพมหานคร 585 รายติดในประเทศ 7 ราย
2. กาฬสินธุ์ มี 233 ราย ติดเชื้อในประเทศ 231 ราย
3. ร้อยเอ็ด 180 ราย ติดในประเทศ 180 ราย
4. ภูเก็ต 175 ราย ติดในประเทศ 17 ราย
5. ชลบุรี 162 ราย ติดในประเทศ 70 ราย
6. สมุทรปราการ 106 ราย ติดในประเทศ 28 ราย โดยทั้งหมดติดเชื้อไป 54 จังหวัดแล้ว
ปรับมาตรการรับมือ “โอมิครอน”
กระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการ ขอความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานรัฐ - เอกชน ให้ข้าราชการ พนักงาน ปฏิบัติหน้าที่ที่บ้าน หรือ Work From Home เป็นเวลา 7 - 14 วัน ในช่วงวันที่ 1 - 14 มกราคม 2565 โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนา

1. ก่อนเดินทางกลับมาทำงาน หรือ เรียน ขอให้มีการตรวจคัดกรองด้วย ATK และเมื่อกลับมาถึงสามารถทำงานที่บ้านได้ให้ทำงานที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
2. หากต้องเริ่มปฏิบัติงานทันทีขอให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน และในสัปดาห์แรกให้ตรวจ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย3 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการจนครบ 14 วัน และงดการรวมกลุ่มพูดคุย/รับประทานอาหาร
3. หากเกิดการติดเชื้อในโรงงานไม่จำเป็นต้องปิดโรงงาน แต่ขอให้ใช้มาตรการ Bubble & Seal เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อออกภายนอก

ศธ. พิจารณายกเลิกการเรียน แบบ On – site
กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศให้ทุกโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุโควิด-19 ประเมินความเสี่ยงครู นักเรียน ปรับเรียนออนไลน์

• ให้สถานศึกษาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอย่างรอบด้าน หากมีนักเรียนหรือครูที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาปรับการเรียนการสอนเป็นระบบการศึกษาทางไกล (On air, Online, On hand และ On demand) ได้ตามความเหมาะสม และประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างใกล้ชิด
• ให้สถานศึกษาประเมินมาตรการการเปิดเรียนของ Thai stop COVID plus และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโดยเคร่งครัด โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
• ให้สถานศึกษาดำเนินมาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด กรณีนักเรียน ครู หรือ บุคลากรในสถานศึกษามีการติดเชื้อ โควิด-19 หรือ มีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยให้มีการชักซ้อมอย่างเคร่งครัด และประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ศธ. ประกาศเลื่อนการจัดกิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติที่ส่วนกลาง และ เลื่อนการจัดกิจกรรมการมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่เด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติทั่วประเทศ ออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิด – 19 จะคลี่คลาย

การจัดการขยะติดเชื้อ
ในช่วงที่มีการตรวจคัดกรองด้วย ATK การกักตัว และการรักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation อาจทำให้เกิดขยะติดเชื้อจากครัวเรือนให้ทำความเข้าใจในการจัดการขยะติดเชื้อเพื่อลดการกระจายของเชื้อในวงกว้าง ขยะติดเชื้อ หรือ มูลฝอยติดเชื้อ หมายถึง “มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือความเข้มข้นซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วทำให้เกิดโรคได้” โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่เสี่ยงต่อโรคโควิด - 19 ได้แก่
1. หน้ากากอนามัย
2. ชุดตรวจ ATK (หลอด น้ำยา ตลับ ไม้Swab)
3. กระดาษทิชชู่ ผ้าก๊อช สำลีที่ใช้แล้ว
4. เข็มฉีดวัคซีน ต่าง ๆ
ชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้วถือเป็นขยะที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค
ATK แยกขยะออกเป็น 2 ประเภท
1. ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งที่ใช้ทดสอบ เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ ขยะประเภทนี้ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิดได้เลย
2. ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งที่ใช้ทดสอบ เช่น ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swap ขยะประเภทนี้ ถือเป็นขยะที่มีความเสี่ยงสูง ต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้
ATK กำจัดอย่างถูกวิธี
• เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน ใส่ถุงขยะสีแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสขยะติดเชื้อ มัดปากถุง ด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
• มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ
• ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บขนขยะ ติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำขยะติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
ในกรณีที่ชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ หรือระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อเข้าไม่ถึง
• ให้ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป โดยหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทันที


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar