ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพร้อมมาตรการคู่ขนาน

       คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพร้อมมาตรการคู่ขนาน  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายข้าวเปลือกในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งมีมาตรการคู่ขนานเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำควบคู่กัน  โดยแบ่งเป็น 3 โครงการ ดังนี้
    1. โครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 65/66  เป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน  โดยเป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณท์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด)  และราคาประกันรายได้ตามชนิดข้าว ดังนี้  
     - ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน (ไม่เกิน 14 ตัน/ครัวเรือน)
     - ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน (ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน)
     - ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน (ไม่เกิน 30 ตัน/ครัวเรือน)
     - ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน (ไม่เกิน 25 ตัน/ครัวเรือน)
     - ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน (ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน)
    2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 65/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ได้แก่  
          (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 65/66 เป็นการจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมทั้งค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน  
          (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหการณ์การเกษตร  กลุ่มเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป  
          (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต็อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร  เป้าหมายเพื่อดูดซับ 4 ล้านตันข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3%  ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายในหรือเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
    3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 65/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท 
ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่  หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท  
     นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยตัวเลขการใช้วงเงินงบประมาณใน 3 โครงการดังกล่าวรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากวงเงินงบประมาณในครั้งก่อนที่สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นจากการดำเนินการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้ลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยลงได้เกือบครึ่งของวงเงินในอดีต ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินงวดแรกเข้าบัญชีเกษตรกรได้ประมาณปลายเดือน พฤศจิกายน 2565
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar