มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงาน

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติราคาพลังงานที่ยืดเยื้อ ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา กระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทานสินค้าอื่น ๆ ของโลกขาดแคลน เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เงินเฟ้อสูงถึง 8% ในรอบหลายสิบปี ทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหานี้เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

 

ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิม อาทิ

1. ขยายมาตรการช่วยเหลือเดิม ออกไป 3 เดือน ก.ค.-ก.ย.65

• ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาท/ถังเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคแบกรับต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตามราคาตลาดโลก

ทั้งนี้จะมีการปรับขึ้นเป็นขั้นบันได้ครั้งละ 1 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. 65 โดยวันที่ 1 ก.ค. 65 นี้ จะปรับราคามาอยู่ที่ 378 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่วนเดือน ส.ค. ก็จะขึ้นราคาอีก 15 บาท เป็น 393 บาท และเดือน ก.ย. ก็จะปรับราคาขึ้นเป็น 408 บาท ซึ่งราคาในตลาดโลกอยู่ที่ราว 460 บาท/ถัง และในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศราคาสูงถึง 500 บาท/ถัง อย่างไรก็ตามหากราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกลดลง ก็อาจมีการพิจารณาปรับลดตามราคาตลาด

• ขยายระยะเวลาส่วนลดก๊าซ LPG แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ไม่เกิน 100 บาท/ คน/ 3 เดือน (จากเดิม 45 บาท/คน/3 เดือน)

สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องรูดบัตร EDC)

• ส่วนลดก๊าซ LPG สำหรับหาบเร่เผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/เดือน

• ตรึงราคาก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกกรัม สำหรับแท็กซี่ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ซื้อในราคา 13.62 บาท /กิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

• ตรึงราคาน้ำมันดีเซล กรณีที่ราคาเกิน 35 บาท/ลิตร โดยรัฐอุดหนุนส่วนเพิ่มในอัตราร้อยละ 50

สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย. 65 กองทุนอุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 11.25 บาทต่อลิตร จากราคาจริงที่ไม่มีการอุดหนุนจะไปอยู่ที่ 46.16 บาทต่อลิตรและจะยังอุดหนุนดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตรต่ออีก 3 เดือน

2. มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น

กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และ B20 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร

3. มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงานรายงานว่า กำลัง อยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500 - 1,000 ล้านบาท/เดือน

4. มาตรการประหยัดพลังงาน

• ภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส

• ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น

• ภาคขนส่ง อาทิ การส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนบุคคล รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทางโดยการใช้แอปสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้ การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง

• หน่วยงานราชการ อาทิ – ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และ กำหนดให้ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ - ผลักดันกลไก ESCO


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar