คนไทยใช้น้ำมันแพง...เพราะค่าการกลั่นที่สูงเกินจริง?

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าได้มีการสอบถามถึงกรณีมีการระบุว่า ค่าการกลั่นน้ำมันขึ้นมาอยู่ที่ 8 บาทต่อลิตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า ตอนนี้ค่าการกลั่นยังไม่ถึง 8 บาทตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด โดยระบุว่าการควบคุมค่าการกลั่นนั้น มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองผู้ประกอบการ อาจใช้ลักษณะของการขอความร่วมมือ ทั้งนี้ได้สั่งการให้เร่งหาแนวทางที่ชัดเจนออกมาว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน โดยต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม กลไกราคาน้ำมัน มีความเชื่อมโยงกันทั้งโลก และอาจต้องเผชิญกับสภาวะนี้ไปอีกจนกว่าสถานการณ์ในระดับโลกจะคลี่คลาย

 

ค่าการกลั่น 8 บาท? รัฐกำหนดเพดานได้หรือไม่?

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ศึกษาเรื่องการควบคุมค่าการกลั่นมากว่า 1 เดือนแล้ว โดยประเด็นดังกล่าวมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกครั้ง

ส่วนกรณีข้อมูลที่ระบุว่า “ค่าการกลั่นในประเทศไทยสูงถึงลิตรละ 8 บาทนั้น” ยืนยันว่า ปัจจุบันค่าการกลั่น (เดือนพ.ค.65) อยู่ที่ 5.20 บาท ซึ่งเพิ่มสูงจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยค่าการกลั่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ลิตรละ 2.00 - 2.50 บาท แต่ในปี 2563 - 2564 เกิดการระบาดโควิด-19 การใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวตาม และต้นทุนค่ากลั่นน้ำมันก็ปรับลดตามอยู่ที่ 0.70 – 0.89 บาทต่อลิตร (โดยช่วงดังกล่าวโรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันรวมกว่า 30,000 ล้านบาท) ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับช่วงภาวะปกติได้

ในปี 2565 ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับวิกฤตราคาน้ำมันจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ ค่าการกลั่นน้ำมันของไทยปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี ค่าการกลั่นเฉลี่ย 3.27 บาทต่อลิตร และมาเพิ่มสูงขึ้น ในเดือนพฤษภาคมที่ 5.20 บาทต่อลิตร

ค่าการกลั่น คืออะไร คำนวณอย่างไร?

การคำนวณค่าการกลั่น นำส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้เทียบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ที่ต้องรวมค่าเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และยังมีต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานที่ใช้กลั่น ค่าดำเนินการ ดอกเบี้ย และภาษีซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและทิศทางเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติในปัจจุบัน

 

อีกทั้งการคิดค่าการกลั่น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับน้ำมันแต่ละชนิดได้ เนื่องจากในการกลั่นน้ำมันดิบ 1 ครั้ง จะได้ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเตา ยางมะตอย ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ มีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถหยิบยกผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งมาเทียบกับราคาน้ำมันดิบแล้วบอกส่วนต่างของค่าการกลั่นได้

 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย 6 ราย ซึ่งกำลังการผลิตของกลุ่ม ปตท. คิดเป็น 61% ของโรงกลั่นทั้งหมด

 

มาตรการดูแลผลกระทบด้านราคาพลังงาน

รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น

-การใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ที่ ลิตรละ 34.94 บาท ทั้งที่ราคาที่แท้จริงลิตรละ 45 บาท

- การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์จากเดิมลิตรละ 1.02บาท เหลือส่งเข้ากองทุน 0.09 บาท

- การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท (2 เดือน) ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ซึ่งบางมาตรการส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ ขณะที่รายจ่ายในการดูแลประชาชนด้านอื่นก็มีความจำเป็น อีกทั้งการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันจนติดลบใกล้แตะระดับ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามจากการประชุมร่วมกันระหว่าง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวโน้มว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมา ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar